พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์
(หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี)
วัดหินหมากเป้ง
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
(๒๔๔๕ - ๒๕๓๗)
ตามกระแสพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทุกข์เป็นของไม่ควรละ
แต่เป็นของควรต่อสู้ ความทะยานอยากได้สุขหรือไม่อยากให้มีทุกข์ต่างหากเป็นของควรละ
ผู้ที่จะพ้นจากทุกข์ได้ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น
ผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของความเพียรแล้ว อาจคิดว่าความขยันหมั่นเพียรในภารกิจต่างๆ
มันเป็นทุกข์ลำบากเหนื่อยยากมิใช่หรือ จริงดังนั้น คนตกน้ำไม่ยอมว่ายมีหวังตายโดยถ่ายเดียว
จะรอดมาได้แต่เฉพาะคนที่ว่ายน้ำได้หมายพึ่งตนเองเท่านั้น
ทุกข์กับความเพียรเท่านั้นที่มีค่ามากในโลกนี้ หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว
ใครๆ ในโลกนี้จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพาน
สมาธินี้ ถ้าสติอ่อน ไม่สามารถรักษาฐานะของตนไว้ได้ ย่อมพลัดเข้าไปสู่ภวังค์เป็น
"ฌาน" ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้นเมื่อไร ย่อมกลายเป็น
"สมาธิ" ได้เมื่อนั้น
เมื่ออยู่ใน "สมาธิ" นั้นเล่า ก็มิใช่ว่าจิตจะโง่เง่าซึมเซอะ
แต่มันมีความผ่องใส พิจารณาธรรมอันใด ก็ปรุโปร่งเบิกบาน "ฌาน"
ต่างหากที่ทำให้จิตสงบแล้วซึมอยู่กับความสุขเอกัคคตาของฌาน ขออย่าได้เข้าใจว่า
"ฌาน" กับ "สมาธิ" เป็นอันเดียวกัน ลากับม้าเป็นสัตว์ประเภทเดียวกัน
แต่ตระกูลต่างกัน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความโง่อันสงบจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ยังดีกว่าความกล้าหลงเข้าไปจมอยู่ในกามทั้งหลายเป็นไหนๆ
หลักอนัตตา ในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบ
พระองค์มิได้ตรัสว่า อนัตตาเป็นของไม่มีตนมีตัว เป็นของว่างเปล่า
พระองค์ตรัสว่า ตนตัวคือ ร่างกายของคนเรา อันได้แก่ ขันธ์ทั้ง ๕
นี้ มันมีอยู่แล้ว แต่จะหาสิ่งที่เป็นสาระในขันธ์ ๕ นั้นไม่มีดังนี้ต่างหาก
เมื่อสรุปให้สั้นๆ แล้ว
ผู้ที่ยังยึดอัตตาอยู่ พระองค์ก็สอนให้ประกอบภารกรรมเพื่อประโยชน์แก่อัตตาโดยทางที่ชอบที่ควรไปก่อน
จนกว่าผู้นั้นจะเห็นชัดแจ้งด้วยตนเองว่า สิ่งที่เราถือว่าอัตตาอยู่นั้น
แท้จริงแล้วมิใช่อัตตา มันเป็นเพียงมายาหรือของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
.
แล้วพระองค์จึงสอน "อนัตตา" ที่แท้จริง
การเห็นความฟุ้งซ่านของจิตนั้น คือ "ปัญญาขั้นต้น"
คนใดว่าตนดี คนนั้นยังไม่ดี ใครว่าตนวิเศษวิโสหรือฉลาดเฉียบแหลม
คนนั้นคือ คนโง่
พระพุทธศาสนานี้สอนมีจุดที่รวมได้ มีที่สุดหมดสิ้นสงสัยหมดเรื่อง
ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น เขาสอนไม่มีที่สิ้นสุด
จึงว่าพระพุทธศาสนาสอนถึงที่สุด
แต่บุคคลผู้ทำตามนั้น ทำไม่ถึงที่สุด
แท้จริงความนึกคิดไม่ใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นของตน
จึงเป็นทุกข์
ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลางได้ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง