บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน
แก่บุคคลทั้งหลาย เป็นการทำบุญที่หลายคนคาดไม่ถึง ว่าเป็นการทำบุญชนิดหนึ่ง
พออธิบายได้ว่า การอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นการลดทิฐิ ลดการยึดติดในตัวตน
ให้ความสำคัญแก่บุคคลรอบข้าง และการอ่อนน้อมถ่อมตนกับบุคคลอื่น ย่อมได้รับความเอ็นดู
ได้รับความพอใจกลับมา การอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการด้วย
ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่แสดงออกถึงความสามารถที่ตัวเองมีอยู่ให้ผู้อื่นทราบเพื่อข่มผู้อื่น
หรือเพื่อโอ้อวด การไม่อวดดี เย่อหยิ่งจองหอง แต่แสดงตนอย่างสงบเสงี่ยม
ท่านว่าไว้ว่าโทษของการอวดดีนั้นมีอยู่ดังนี้คือ
๑.ทำให้เสียคน คือไม่สามารถกลับมาอยู่ในร่องในรอยได้เหมือนเดิม
เสียอนาคต
๒.ทำให้เสียมิตร คือไม่มีใครคบหาเป็นเพื่อนด้วย
ถึงจะมีก็ไม่ใช่เพื่อนแท้
๓.ทำให้เสียหมู่คณะ คือถ้าต่างคนต่างถือดี ก็ทำให้ไม่สามารถตกลงกันได้
ในที่สุดก็ไม่ถึงจุดหมาย หรือทำให้เป็น ที่เบื่อหน่าย ของคนอื่น
การทำตัวให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นมีหลักดังนี้คือ
๑.ต้องคบกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่ดีมีศีลมีธรรม
คอยตักเตือนหรือชักนำไปในทางที่ดีที่ถูกที่ควร
๒.ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง คือการรู้จักคิดหาเหตุผลอยู่ตลอดถึงความเป็นไปในธรรมชาติของมนุษย์
ต่างคนย่อมต่างจิดต่างใจ และรวมทั้งหลักธรรมอื่นๆ
๓.ต้องมีความสามัคคี คือการมีความสามัคคีในหมู่คณะ
อลุ่มอล่วยในหลักการ ตักเตือน รับฟังและเคารพความคิดเห็น ของผู้อื่นอย่างมีเหตุผล
ท่านว่าลักษณะของคนถ่อมตนนั้นมีดังนี้
๑.มีกิริยาที่นอบน้อม
๒.มีวาจาที่อ่อนหวาน
๓.มีจิตใจที่อ่อนโยน
สรุปแล้วก็คือ สมบูรณ์พร้อมด้วยกาย วาจา และใจนั่นเอง